A Blogger by Beamcool

มาดูสิ..คุณเป็นเกย์ประเภทไหน ?

Tuesday, July 21, 2009

ปัจจุบันกลุ่มชายรักชาย (Mala Homosexual) ได้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นจนเป็นกลุ่มสังคมย่อยที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งเราอาจพบเห็นได้จากสังคมรอบข้าง เป็นภาพสะท้อนหนึ่งของสังคม ที่มิอาจปิดบังได้ นอกเหนือจากบทบาททางเพศที่แตกต่าง เราจะเห็นว่า กลุ่มชายรักชายยังมีกิจกรรม มีรูปแบบการดำเนินชีวิต มีพฤติกรรมการซื้อที่น่าศึกษา เพราะมีขนาดใหญ่พอที่จะเกิดเป็นตลาดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคการทำตลาดแบบ Niche Market ที่มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะกลุ่ม

ด้วยเหตุดังกล่าวได้มีงานวิจัย ชิ้นหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ศึกษาชีวิตของบุคคลกลุ่มนี้ เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ของพวกเขา ซึ่งได้มีการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง ชายรักชาย (เกย์) ในเขตกรุงเทพมหานคร อายุระหว่าง 20-45 ปี จำนวน 300 คน

โดยอิง นิยามความหมายของ เกย์ (Gay) คือ ผู้ชายที่มีรสนิยมทางเพศชอบเพศชายด้วยกัน แต่ยังคงพึงพอใจในเพศชายของตนเอง การแต่งตัวเป็นผู้ชาย บุคลิกภายนอกอาจบ่งชี้ผู้เป็นเกย์ได้ลำบาก เพราะมีทั้งสุภาพเรียบร้อย จนถึงเหมือนผู้ชายทั่วๆ ไป กลุ่มตัวอย่างนี้จึงไม่รวมถึงกลุ่มชายรักชายประเภทอื่นๆ คือ กลุ่มแปลงเพศ (Transsexual) และไม่รวมกลุ่มแต่งกายเลียนแบบเพศหญิง (Transvestitism)

ใน การวิจัยครั้งนี้ ได้ทำการวิจัยแบบสอบถาม กระจายไปตามกลุ่มชายรักชาย ที่เป็น "เกย์" ทั่วกรุงเทพฯ โดยกระจายไปตามแหล่งปรากฏตัว เช่น บาร์ ดิสโก้เธค เซาน่า ใน 3 ทำเลหลัก คือ ย่านสีลม ย่านรามคำแหง-สุขุมวิท และย่านสะพานควาย รวมถึงจากการเปิดรับสื่อทางอินเทอร์เน็ต นิตยสารเกย์ และจากกลุ่มสังคมทั่วไป หลากอาชีพ เช่น ข้าราชการ พนักงานเอกชน นักศึกษา ผู้กำลังรองาน ฯลฯ ซึ่งเวลาในการเก็บข้อมูลในช่วงเดือน สิงหาคม 2542
ผล การวิจัยพบว่า ในการเปิดเผยความเป็นเกย์ กลุ่มตัวอย่างเกย์ส่วนใหญ่ มีเพื่อนสนิทรู้ว่า เป็นเกย์มากที่สุด คือ 77% สังคมทั่วไป เช่น สถานที่ทำงาน หรือสถานศึกษารู้ว่าเป็นเกย์ 43% ขณะที่สมาชิกในครอบครัวรู้ว่าเป็นเกย์เพียง 33% เท่านั้น

แสดงให้เห็น ว่า ในสังคมทั่วไป การบ่งบอกว่าใครเป็นเกย์ทำได้ยาก และการไม่กล้าเปิดเผยความเป็นเกย์ต่อสถาบันครอบครัว อาจเป็นเพราะค่านิยมที่สืบทอดกันมาว่า เป็นเรื่องที่น่าอับอาย หรือไม่ต้องการให้พ่อแม่เสียใจ จึงเป็นที่มาของปัญหาการถูกบังคับให้แต่งงาน หรือการแต่งงานเพื่อบังหน้า จากการสำรวจพบว่า มีเกย์บางคนที่แต่งงานมีครอบครัว มีลูก แต่มักแอบภรรยามาหาความสุขกับเพศเดียวกัน

ด้านกิจกรรมที่เกย์ส่วนใหญ่ ทำในวันหยุด คือ พักผ่อนอยู่บ้าน เที่ยวกับแฟน และเที่ยวกลางคืน ส่วนกิจกรรมที่ทำน้อยที่สุด คือ การแต่งแฟนซีเป็นหญิง สูบบุหรี่ และเล่นการพนัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การที่สังคมมองกลุ่มเกย์ เป็นผู้ชอบมั่วสุม เล่นการพนัน สูบบุหรี่ เป็นการมองกลุ่มเกย์ที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ผลการวิจัยยังพบอีกว่า กลุ่มเกย์ส่วนใหญ่ 65% ไม่สูบบุหรี่

ส่วนด้านการให้ความสนใจต่อเรื่อง ต่างๆ พบว่ากลุ่มเกย์ในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ มีความระมัดระวังต่อโรคเอดส์สูง ด้วยการสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ 83% มีความมุ่งมั่นที่จะประสบความสำเร็จด้านการงานหรือการเรียน 83% อีกทั้งให้ความสำคัญกับการรักษารูปร่าง 77% และพิถีพิถันการแต่งกาย 65%
ด้าน ความคิดเห็นต่อสังคม กลุ่มเกย์ส่วนใหญ่ มีความตระหนักถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม 93% และคิดว่าเกย์ควรสะสมทรัพย์สินให้มาก เผื่อไว้ยามแก่ 80% และคิดว่าตนมีความรู้เรื่องเอดส์ดีพอ 85% ประเด็นที่น่าสนใจ คือ เกย์ส่วนใหญ่ 65% มีความพอใจในความเป็นเกย์ของตนเอง ซึ่งอาจหมายถึงการเป็นเกย์ในปัจจุบัน สามารถมีความสุขได้ไม่ต่างจากชายจริงหญิงแท้ ผิดการเป็นเกย์เมื่อ 20 ปีก่อน ที่ผูกติดกับชีวิตที่ผิดหวัง โดดเดี่ยว จนเกิดคอลัมน์ปรึกษาปัญหาชีวิต ชีวิตเศร้าชาวเกย์ โดย โก๋ ปากน้ำ

ไลฟ์สไตล์ชายรักชาย
การ แบ่งประเภทของเกย์ อาจทำได้ในโดย ใช้เกณฑ์แบ่งที่แตกต่างกัน ในการวิจัยครั้งนี้ ใช้เกณฑ์แบ่งจาก รูปแบบการใช้ชีวิต ที่ประกอบด้วย กลุ่มกิจกรรม (Activities) กลุ่มความสนใจ (Interests) และกลุ่มความคิดเห็น (Opinions) โดย ใช้หลักการวิเคราะห์ปัจจัย (Factor Analysis) หาค่าทางสถิติ จัดแบ่งรูปแบบการดำเนินชีวิต (Lifestyle) ได้เป็น 6 รูปแบบ คือ

Homey Gay Lifestyle เป็นรูปแบบการดำเนินชีวิต ที่ชอบทำกิจกรรมในบ้าน และกิจกรรมทางศาสนา รวมทั้งกิจกรรมเพื่อความรู้ เช่น ชอบปลูกต้นไม้ เข้าครัว พักผ่อนอยู่บ้านวันหยุด ชอบทำบุญ และนั่งสมาธิบ้าง นอกจากนี้ ยังชอบเข้าห้องสมุด และชมนิทรรศการต่างๆ

Night Going Gay Lifestyle เป็นรูปแบบการดำเนินชีวิต ที่ชอบเที่ยวกลางคืน ชอบเต้นรำ สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เพราะคิดว่าไม่ใช่เรื่องเสียหาย คิดว่าการซุบซิบนินทา เป็นเรื่องสนุกปาก มีความเห็นว่า ยาเสพย์ติด ยาอี เป็นสิ่งคลายเครียด มองว่าสินค้าไทยไม่มีคุณภาพ รวมทั้งมองการแสดงของไทยเป็นสิ่งล้าสมัย

Obviously Gay Lifestyle เป็นรูปแบบการดำเนินชีวิต ที่เปิดเผยความเป็นเกย์เต็มตัว นิยมแต่งตัวแฟนซีเป็นผู้หญิงบ้างบางโอกาส มักเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ให้ความสำคัญกับรูปร่างหน้าตาของผู้ที่จะมาเป็นแฟนด้วย มีความสนใจในเรื่องสวยๆ งามๆ คิดว่าผู้ชายแต่งหน้าอ่อนๆ ได้ และคิดว่าการแต่งตัวแปลกๆ เว่อร์ๆ ดูเท่ดี ชอบกิจกรรมการพนัน กลุ่มนี้พร้อมให้ความร่วมมือกับกิจกรรมเกย์เป็นอย่างดี

Trendy Gay Lifestyle เป็นรูปแบบการดำเนินชีวิต ที่สนใจในความก้าวหน้าของชีวิต และความก้าวหน้าทางวิทยาการใหม่ๆ ใฝ่หาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ให้ความสำคัญกับการติดต่อสื่อสาร เช่น ขาดอุปกรณ์ติดต่อสื่อสารไม่ได้ เปิดรับสื่อต่างๆ มาก ชอบลองของใหม่ก่อนเพื่อน รักอิสระ เป็นตัวของตัวเองสูง แต่ขณะเดียวกัน ก็มีสังคมกลุ่มเพื่อนที่เหนียวแน่น

Conservative Gay Lifestyle เป็นรูปแบบการดำเนินชีวิต ที่นิยมใช้ชีวิตแบบระมัดระวังตัว เช่น ตระหนักถึงการเก็บออม ออกกำลังกาย เล่นกล้าม มีความใส่ใจในการรักษารูปร่างให้ดี หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันหรือน้ำตาลสูง พิถีพิถันการแต่งกาย นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวสูง ชอบเที่ยวต่างจังหวัด และต่างประเทศ

Healthy Gay Lifestyle เป็นรูปแบบการใช้ชีวิตที่คำนึงถึงสุขภาพเป็นหลัก มีกิจกรรมด้านกีฬา ออกกำลัง เล่นกล้าม มีความใส่ใจด้านสุขภาพสูง เช่นเลี่ยงอาหารมัน อาหารหวาน พิถีพิถันการแต่งกาย ชอบท่องเที่ยว
หมายเหตุ : Xq28 พบว่าข้อมูลจาก site ของกรุงเทพธุรกิจมีเพียง 5 แบบเท่านั้น และเราได้รับความอนุเคราะห์จากคุณเคน เจ้าของงานวิจัย มาเพิ่มเติมข้อ 6 ให้ ผ่านทางกระดาน 007th จึงขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

จากการ ศึกษา พบว่า กลุ่มเกย์ในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ ดำเนินชีวิตแบบ Conservative และแบบ Trendy มากที่สุด อย่างไรก็ตาม รูปแบบการดำเนินชีวิตทั้ง 6 แบบนี้ ไม่ได้หมายความว่า เกย์บุคคลหนึ่งจะถูกจัดให้อยู่ในรูปแบบการดำเนินชีวิตแบบใดแบบหนึ่ง แต่หมายความว่า รูปแบบการดำเนินชีวิตของกลุ่มตัวอย่างเกย์ที่ได้จากการสำรวจ มีปัจจัยที่เด่นๆ สามารถจำแนกได้ 6 ปัจจัย

ดังนั้น เกย์หนึ่งคนอาจมีรูปแบบการดำเนินชีวิตที่ผสมผสานได้ เช่น นาย ก. อาจมีลักษณะของ Trendy Gay Lifestyle และ Night Going Gay Lifestyle อยู่ในคนๆ เดียวกัน คือ เป็นคนทันสมัย ชอบติดต่อสื่อสาร ติดตามเทคโนโลยีเสมอ และนิยมการเที่ยวกลางคืน ดิสโก้เธค สูบบุหรี่ ดื่มเหล้าด้วย
เที่ยวหนัก รักงาน รักอิสระ

จากการวิจัยครั้งนี้ ทำให้เห็นภาพรวมของกลุ่มวัฒนธรรมย่อยนี้ คือ เที่ยวหนัก ทำงานหนัก นิยมกิจกรรมบันเทิง เช่น เที่ยวกลางคืน ขณะเดียวกัน มีความคิดมุ่งมั่นต่อความสำเร็จในชีวิต คำนึงถึงอนาคต, ตระหนักเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย มีการสวมถุมยางขณะมีเพศสัมพันธ์ มีความระมัดระวังต่อประเด็นเอดส์สูง แสดงให้เห็นถึงการรณรงค์เรื่องเอดส์ต่อกลุ่มเกย์ที่มีอย่างต่อเนื่องได้ผลดี

กลุ่มชายรักชาย มักให้ความพิถีพิถันการแต่งกาย โดยไม่จำเป็นต้องเป็นสินค้า Brand Name เลือกซื้อเสื้อผ้าโดยมีปัจจัยอื่น เช่น รูปแบบเสื้อผ้า ฯลฯ นอกเหนือจากตราสินค้าเพียงอย่างเดียว แถมยังรักอิสระ แต่ยังได้รับอิทธิพลทางความคิดจากครอบครัวอยู่ มีความ "รักอิสระ" สูง แต่กลับมีการปกปิดความเป็นเกย์ต่อกลุ่มคนครอบครัวมากที่สุด และมีความคิดที่จะใช้ชีวิตตามลำพังอยู่ในระดับปานกลาง

พวกเขาตระหนักใน ความเป็นไทย เกย์ส่วนใหญ่ไม่คิดว่าการแสดงของไทยเป็นสิ่งเชย และเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าไทย นอกจากนี้ ยังใส่ใจเรื่องสุขภาพและรูปร่างสูง และปฏิบัติตัวในเชิง "งด" มากกว่าเชิง "สร้างเสริม" โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับรูปร่างและสุขภาพ และทำกิจกรรมเพื่อสุขภาพในเชิงงด เช่น ไม่สูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงอาหารหวานหรือมีไขมันสูง มากกว่ากิจกรรมเสริมสร้างสุขภาพ เช่น เล่นกีฬา หรือเล่นกล้าม ยกน้ำหนัก ซึ่งอาจเป็นผลมาจากกิจกรรมประเภทเล่นกีฬา ต้องใช้ความสะดวกหลายๆ ด้าน เช่น เวลา สถานที่ ในขณะที่กิจกรรมเชิง "งด" ทำได้ง่ายกว่า

ที่สำคัญ ชายรักชายมีความพอใจในความเป็นเกย์ของตนเองสูง มีค่านิยมกับกลุ่มเกย์ ว่าไม่ควรแสดงออกมาและไม่นิยม

ลักษณะ Feminine Gay (เกย์ที่ออกสาว)

เกย์สนใจข่าวพอๆ กับดูละคร

ใน เมื่อไลฟ์สไตล์ของชาวเกย์ ดูจะเป็นกลุ่มที่รักสวยรักงาม เหตุนี้กลุ่มสินค้าและบริการที่มีการบริโภคในระดับสูง คือ หมวดการแต่งกาย แฟชั่น ได้แก่ นิยมฉีดน้ำหอม ทาครีมโลชั่น ซื้อเสื้อผ้า รวมทั้งหมวดสินค้าและบริการในหมวดบันเทิง ได้แก่ ชมภาพยนตร์ ซื้อเทปเพลง เที่ยวดิสโก้เธค และเที่ยวเซาน่า (สถานพบปะเพื่อการมีเพศสัมพันธ์)
ขณะ เดียวกัน พฤติกรรมการเปิดรับสื่อของกลุ่มชายรักชาย (เกย์) มีการบริโภคสื่อที่เกี่ยวข้องกับการบันเทิงสูงในระดับสูง โดยเปิดรับคอลัมน์บันเทิงในหนังสือพิมพ์ 72% และนิตยสารประเภทบันเทิง เช่น เอนเตอร์เทน 41% และเปิดรับนิตยสารประเภทสตรี เช่น แพรว ดิฉัน อิมเมจฯ ในระดับสูง 41%

ที่น่าสังเกต คือ รายการทางสื่อโทรทัศน์ พบว่ากลุ่มชายรักชาย (เกย์) นิยมดูรายการข่าวและละคร เป็นอันดับต้นๆ ซึ่งมีส่วนคล้ายผู้ชายที่นิยมชมรายการข่าว และคล้ายผู้หญิงที่นิยมรายการละคร นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างเกย์ยังมีการเปิดรับสื่อประเภทนิตยสารในระดับสูง 85% มากกว่าผู้ชายทั่วไปที่เปิดรับสื่อประเภทนิตยสารเพียง 7%
การสื่อสาร ระหว่างบุคคล (เพื่อนเกย์) เป็นที่นิยมมากที่สุด เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลเฉพาะกลุ่ม ได้แก่ สถานบันเทิงเปิดใหม่ กิจกรรมเกย์ต่างๆ


เกย์ สีสันในพหุสังคม
ในด้านสังคม จากผลการวิจัยพบว่า กลุ่มชายรักชาย (เกย์) เป็นสังคมกลุ่มย่อย ที่มีความหลากหลายในรูปแบบการดำเนินชีวิต เช่นเดียวกับสังคมอื่นๆ ทั่วไป แต่ภาพที่ปรากฏเป็นตัวแทนของกลุ่มเกย์มักเป็นภาพเชิงลบ ทั้งๆ ที่มีรูปแบบการดำเนินชีวิตอีกหลายแบบที่ไม่ได้ถูกกล่าวถึง เช่น ตระหนักถึงการเก็บออมใส่ใจในปัญหาสิ่งแวดล้อม ตั้งใจทำงานให้ประสบความสำเร็จ

การที่สื่อสารมวลชนนำเสนอภาพเชิงตลกขบ ขันของคนกลุ่มนี้ เพราะเล่นประเด็นเฉพาะความเบี่ยงเบนทางเพศ โดยมองข้ามประเด็นอื่น เช่น ด้านความสามารถ ด้านการใช้ชีวิต ยิ่งมีส่วนให้สังคมมองกลุ่มเกย์บิดเบือนจากภาพรวมที่แท้จริง และยิ่งสร้างช่องว่างระหว่างสังคมให้กว้างขึ้น สื่อมวลชนในแขนงต่างๆ จึงควรตระหนัก และพิจารณาเสนอภาพของกลุ่มเกย์ ในประเด็นอื่น นอกเหนือจากประเด็นทางเพศมุมมองเดียว

ในด้านการตลาดจากผลการวิจัยพบว่า กลุ่มชายรักชาย (เกย์) เป็นกลุ่มที่มีอำนาจการจับจ่ายสูง โดยเฉพาะสินค้าหมวดแฟชั่น บันเทิง การทำตลาดแบบ Niche Market เพื่อเข้าถึงลูกค้ากลุ่มนี้จึงน่าสนใจยิ่ง เพราะจะเป็นการเปิดตลาดใหม่ๆ ที่ยังไม่มีผู้ใดยึดครอง เพียงแต่ควรพิจารณาให้ดีว่า ไม่มีผลกระทบต่อสังคมส่วนรวม หรือเป็นการกระตุ้นให้เยาวชนเกิดความรู้สึกอยากเลียนแบบ แต่เป็นการทำตลาดเพื่อตอบสนองกลุ่มเกย์ที่มีในตลาดอยู่แล้ว

ที่มา : นสพ.กรุงเทพธุรกิจ

0 comments:

Post a Comment