A Blogger by Beamcool

อบสมุนไพร "ล้างพิษ"

Friday, August 14, 2009

การอบ สมุนไพรเป็นการล้างพิษอีกวิธีหนึ่งที่ใช้กันมานานมากแล้ว คือการใช้ "ความร้อนบำบัด" นั่นเอง การอบสมุนไพรเป็นกรรมวิธีในการรักษาสุขภาพอนามัยแบบพื้นบ้าน เดิมที การอบสมุนไพรจะใช้ในหมู่สตรีที่คลอดลูกใหม่ๆ ชาวอีสานเรียกว่า "อยู่กรรม" ซึ่งจะต้องอาบน้ำร้อน ดื่มน้ำร้อนที่เป็นน้ำต้มสมุนไพร และนอนย่างไฟ บนแคร่ไม้ไผ่ที่ปูรองพื้นด้วยสมุนไพร เช่น ใบหนาด ใบเป้า นอกนั้นก็ใช้ในคนไข้ที่ประสบอุบัติเหตุหกล้ม รถชน ตกต้นไม้ ช้ำใน จะใช้วิธีการอบสมุนไพรโดยการย่าง เพื่อให้การสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงร่างกายได้สม่ำ
เสมอ...

และการอบสมุนไพร ถือว่าเป็นการช่วยล้างพิษออกทางเหงื่อ ผิวหนังของคนเราจะเป็นส่วนที่กว้างที่สุด ดังนั้น การขับสารพิษส่วนเกินออกทางเหงื่อจึงได้ผลดีมาก เวลาที่ร่างกายทุกส่วนเกิดความร้อนขึ้นพร้อมกัน มันจะทำให้เส้นเลือดที่ผิวหนังขยายตัว เลือดก็จะพรั่งพรูกันขึ้นมาที่ผิวหนังเป็นจำนวนมาก พาเอาสารเคมีส่วนเกิน เช่น โซเดียม โปตัสเซียม หรือสารอื่นๆที่เรารับเข้าไปเกินความต้องการนั้น ถูกหลั่งออกมากับเหงื่อ และในเวลาเดียวกันนั้น นอกจากจะล้างพิษออกไปแล้ว เลือดที่มาเลี้ยงที่ผิวหนังมากขึ้น ยังช่วยนำพาสารอาหารที่ดีๆมาให้ผิวหนัง ผิวหนังจึงสวยขึ้นด้

การอบสมุนไพรมี 2 แบบ คือ การอบแห้ง (Sauna) คล้ายการอยู่ไฟ และการอบเปียก (Steam) ที่คนไทยนิยมมากในปัจจุบัน

1. การอบแห้ง เป็นวิธีการอบตัวที่พัฒนามาจากประเพณีไทยดั้งเดิม ซึ่งมีพิธีกรรมต่างๆที่รักษาขวัญกำลังใจสำหรับมารดาหลังคลอด มีการอาบน้ำต้มสมุนไพรและทาตัวด้วยขมิ้น เพื่อบำรุงรักษาอาการอักเสบที่ผิวหนัง และนิยมอยู่ไฟหลังคลอดด้วยการนอนบนแคร่ไม้ มีกองฟืนให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย และการใช้ความร้อนจากกองฟืนนั้นจะช่วยกระตุ้นให้มดลูกหดรัดตัว ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น มีการนำเตาถ่านมาใช้ประกอบการรักษาผิวพรรณและลดน้ำหนัก ลดไขมันส่วนเกิน ปัจจุบันมีการพัฒนาเป็นห้องอบแห้ง

2. การอบเปียก เป็นวิธีการอบตัวด้วยไอน้ำที่ได้จากการต้มสมุนไพร เป็นการบำบัดรักษาวิธีหนึ่ง ซึ่งเริ่มต้นจากประสบการณ์การนั่งกระโจมของหญิงหลังคลอด โดยใช้ผ้าทำเป็นกระโจม หรือนั่งในสุ่มไก่ที่ปิดคลุมไว้มิดชิด มีหม้อต้มสุมนไพรเดือดเป็นไอให้อบและสูดดมไอน้ำได้ และปัจจุบัน ได้นำเอาวิธีการเข้ากระโจมมาฟื้นฟูและพัฒนาให้เข้ากับชีวิตความเป็นอยู่สมัย ใหม่โดยทำเป็นห้องอบไอน้ำสมุนไพรที่ทันสมัยขึ้น ใช้หม้อต้มสมุนไพรที่มีท่อส่งไอน้ำเข้าไปภายในห้องอบ หรือทำเป็นตู้แล้วเข้าไปนั่งอบตัว ส่วนประกอบของสมุนไพรที่ใช้อาจแตกต่างกันได้ตามวัตถุประสงค์เพื่อรักษาอาการ ต่างๆ เช่น ทำให้การไหลเวียนโลหิตดีขึ้น ช่วยขยายหลอดลมและปอด ขับก๊าซเสียได้มากขึ้น ร่างกายสดชื่น ผิวพรรณเปล่งปลั่ง มีน้ำมีนวล ช่วยขับเหงื่อ คลายความเครียด ผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่แข็งเกร็ง และลดอาการปวดตามข้อและกระดูก

การอบตัวด้วยความร้อนนับเป็นวิธีการที่ทางการแพทย์ในปัจจุบันยอมรับว่าสามารถช่วยให้การไหล
เวียน ของโลหิตและน้ำเหลืองบริเวณผิวหนังดีขึ้น ส่วนไอน้ำของสมุนไพรจะมีสรรพคุณตามคุณสมบัติของสมุนไพรนั้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่ช่วยให้ร่างกายเกิดความสดชื่น

สมุนไพรที่ใช้ในการอบ

สมุนไพรที่ใช้ในการอบนั้นไม่จำกัดชนิด อาจเพิ่มหรือลดชนิดของสมุนไพรตามความต้องการใช้ประโยชน์ โดยยึดหลักสมุนไพรในการอบ 4 กลุ่ม ดังนี้

1. สมุนไพรที่มีกลิ่นหอม คือเป็นสมุนไพรที่มีน้ำมันหอมระเหย เช่น ไพล ขมิ้น ผิวมะกรูด ซึ่งให้ประโยชน์ในการรักษาโรคและอาการต่างๆ คือ อาการคัดจมูก ปวดเมื่อย และเวียนศีรษะ

2. สมุนไพรที่มีรสเปรี้ยว เช่น ใบมะขาม ใบและฝักส้มป่อย
ในสมุนไพรกลุ่มนี้จะมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ ช่วยชำระล้างสิ่งสกปรก บำรุงผิวพรรณ เพิ่มความต้านทานโรคให้แก่ผิวหนัง

3. สมุนไพรที่เป็นสารประกอบระเหิดได้เมื่อผ่านความร้อน มีกลิ่นหอม บำรุงหัวใจ เช่น การบูร พิมเสน ช่วยรักษาอาการหวัด คัดจมูก

4. สมุนไพรที่ใช้รักษาเฉพาะโรคและอาการ เช่น สมุนไพรแก้ปวดเมื่อยและบำรุงเส้นเอ็น ได้แก่ เถาวัลย์เปรียง ไพล เถาเอ็นอ่อน ใช้รักษาโรคผิวหนัง เช่น เหงือกปลาหมอเ ป็นต้น
สมุนไพรที่ใช้มี 2 ชนิด คือ สมุนไพรแบบสด และแบบแห้ง

ตัวอย่างสมุนไพรสด : พร้อมสรรพคุณ
ไพล สรรพคุณ แก้ปวดเมื่อย ครั่นเนื้อครั่นตัว
ขมิ้นชัน สรรพคุณ แก้โรคผิวหนัง สมานแผล
ขมิ้นอ้อย สรรพคุณ ใช้บรรเทาอาการฟกช้ำ บวมได้
ว่านนางคำ สรรพคุณ รักษาเม็ดผดผื่นคัน
ตะไคร้ สรรพคุณ ดับกลิ่นคาว บำรุงธาตุไฟ
ใบ - ผิวมะกรูด สรรพคุณ แก้ลมวิงเวียน
ใบหนาด สรรพคุณ แก้โรคผิวหนัง พุพอง น้ำเหลืองเสีย
ว่านน้ำ สรรพคุณ ช่วยขับเหงื่อ แก้ไข้
ใบมะขาม สรรพคุณ แก้อาการคันตามร่างกาย ช่วยให้ผิวหนังสะอาด
ใบส้มป่อย สรรพคุณ แก้หวัด แก้ปวดเมื่อย
ใบพลับพลึง สรรพคุณ แก้อาการฟกช้ำ เคล็ดขัดยอก บรรเทาอาการปวด บวม
กระชาย สรรพคุณ แก้ปวดเมื่อย ปากแตก เป็นแผล ใจสั่น
ใบเปล้าใหญ่ สรรพคุณ ช่วยถอนพิษ ผิดสำแดง บำรุงผิว
ผักบุ้งไทย สรรพคุณ ถอนพิษผื่นคัน
หัวหอมแดง สรรพคุณ แก้หวัด คัดจมูก
ตัวอย่างสมุนไพรแห้ง : พร้อมสรรพคุณ
เหงือกปลาหมอ สรรพคุณ แก้โรคผิวหนัง พุพอง
ชะลูด สรรพคุณ แก้ร้อนใน กระสับกระส่าย ดีพิการ
กระวาน สรรพคุณ แก้เจ็บตา ตาแฉะ ตามัว
เกสรทั้งห้า สรรพคุณ แต่งกลิ่น บำรุงหัวใจ
สมุลแว้ง สรรพคุณ แต่งกลิ่น

ตัวอย่าง
สูตรสมุนไพรที่ใช้อบเพื่อสุขภาพ ประกอบด้วย
1. ยอดผักบุ้ง จำนวน 5 ยอด
2. ใบมะกรูด จำนวน 3 - 5 ใบ
3. ใบมะขาม จำนวน 1 กำมือ
4. ใบส้มป่อย จำนวน 1 กำมือ
5. ต้นตะไคร้ จำนวน 3 ต้น
6. หัวไพล จำนวน 2 - 3 หัว
7. ใบพลับพลึง จำนวน 1 - 2 ใบ
8. ใบหนาด จำนวน 3 - 5 ใบ
9. ขมิ้น จำนวน 2 - 3 หัว
10. การบูร จำนวน 15 กรัม

สรรพคุณ ช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยร่างกาย อาการวิงเวียนศีรษะ และช่วยในการไหลเวียนของโลหิต ช่วยบำรุงผิวพรรณ

หมายเหตุ

สำหรับสมุนไพรที่ใช้ในการรักษาโรคนั้นเราอาจนำเอาสมุนไพรบางชนิดเพิ่มลงไปเพื่อช่วยในการรักษาเฉพาะโรคได้ เช่น
- เหงือกปลาหมอ ใช้รักษาอาการคัน โรคผิวหนัง
- หอมหัวแดง เปราะหอม ใช้รักษาอาการหวัด คัดจมูก
- เถาวัลย์เปรียง เถาเอ็นอ่อน รักษาอาการปวดเมื่อย

กรณีอบสมุนไพรเองที่บ้าน

1. มีตู้อบสมุนไพรสำเร็จรูป ใช้สมุนไพรใส่หม้อต้มน้ำหรือหม้อหุงข้าวไฟฟ้า แล้วใช้ไอน้ำอบสมุนไพร ซึ่งในตู้อบสำเร็จรูปจะมีที่สำหรับให้ไอน้ำผ่านได้ดี และมีการระบายอากาศด้านบน (ศีรษะ)

2. ถ้าไม่มีตู้อบสมุนไพร จะใช้เป็นกระโจม โดยหาวัสดุที่มีอยู่มาดัดแปลงแล้วใช้ผ้าคลุม โดยมีที่ระบายอากาศ ใช้หม้อต้มที่สำหรับให้ไอน้ำเข้าสู่กระโจมอย่างทั่วถึง และระมัดระวังเรื่องน้ำร้อนลวกและระบบไฟฟ้า

มาตรฐานของห้องอบสมุนไพร

1. ขนาดห้อง กว้าง 1.9 เมตร ยาว 1.9 เมตร สูง 2.3 เมตร สามารถอบได้ครั้งละ 3-4 คน
2. พื้นและฝาผนัง ควรเป็นพื้นปูนขัดหน้าเรียบ ช่วยให้ง่ายต่อการทำความสะอาด
3. ประตูห้องควรปิดมิดชิด แต่ไม่มีการล็อคกลอนจากข้างใน อาจเจาะเป็นช่องกระจกที่สามารถมอง
จากภายในห้องได้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่ดูแลสามารถตรวจสอบความปลอดภัยได้
4. ควรมีห้องอบที่แยกให้บริการ สำหรับเพศหญิงและเพศชาย
5. อุปกรณ์สำหรับการอบสมุนไพรประกอบด้วย
- ม้านั่งยาว 1-2 ตัว
- เทอร์โมมิเตอร์ สำหรับวัดอุณหภูมิภายในห้องอบ อุณหภูมิระหว่างอบควรอยู่ระหว่าง 42- 45 องศา สามารถตรวจสอบอุณหภูมิได้ที่ภายนอกห้อง
- นาฬิกาจับเวลา สามารถตั้งเวลาได้
- เครื่องชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิต ปรอทวัดไข้
- หม้อต้มน้ำไฟฟ้า ที่มีซึ้งตะแกรงเติมและเปลี่ยนถ่ายสมุนไพรได้สะดวก
- พัดลมดูดอากาศ
- หม้ออบสมุนไพร เป็นหม้อไฟฟ้า มีระบบควบคุมความปลอดภัย มีท่อสเตนเลสส์จากหม้อต้มส่งไปในห้องอบ และมีระบบควบคุมป้องกันไฟฟ้า ซึ่งมีระบบควบคุมไฟหม้อต้มที่สามารถอุ่นได้ เมื่อรอการใช้และปิดเปิดไฟอัตโนมัติ

ขั้นตอนการอบ

1. วัดความดันโลหิตก่อนทำการอบสมุนไพร
2. นำน้ำประพรมร่างกาย หรืออาบน้ำเพื่อชำระล้างสิ่งสกปรกที่อาจติดอยู่ตามรูขุมขน และเพื่อเป็นการเตรียมเส้นเลือดให้พร้อมต่อการยืดขยายและหดตัว แล้วแต่งกายด้วยเสื้อผ้าน้อยชิ้น
3. เข้าทำการอบ 2 ครั้ง ครั้งละ 15 นาที กรณีผู้ไม่เคยอบ ควรอบ 3 ครั้ง ครั้งละ 10 นาที
4. เมื่อครบจำนวนนาที ไม่ควรอาบน้ำทันที ต้องออกมานั่งพักให้เหงื่อแห้ง แล้วจึงอาบน้ำเพื่อชำระคราบเหงื่อไคลและสมุนไพร และช่วยให้เส้นเลือดหดตัวลงเป็นปกติ
5. เมื่อทำการอบจนครบขั้นตอนแล้วควรปฏิบัติดังนี้
- ชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิต และดูว่าอาการดีขึ้นหรือไม่
- บันทึกการอบสมุนไพรไว้ทุกครั้งเพื่อประโยชน์ในการรักษาต่อเนื่องต่อไป

ประโยชน์ ของการอบสมุนไพร เกิดจากผลของไอน้ำ และผลของน้ำมันหอมระเหย และสารระเหยต่างๆ ในสมุนไพร ซึ่งซึมผ่านชั้นผิวหนังและเข้าไปกับลมหายใจ

- ร่างกายมีการเผาผลาญสารอาหารเพิ่มขึ้น
- มีการขยายตัวของเส้นเลือดฝอย
- การไหลเวียนโลหิตดีขึ้น ช่วยทำให้ร่างกายสดชื่น กระปรี้กระเปร่า แจ่มใส และทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง มีน้ำมีนวล ดูมีเลือดฝาด
- ทำให้มดลูกของสตรีหลังคลอดเข้าอู่เร็วขึ้น
- ช่วยทำให้ร่างกายขับเหงื่อออกมากขึ้น ซึ่งจะช่วยชำระล้างและขับของเสียออกจากร่างกายทางผิวหนัง
- บรรเทาอาการปวดเมื่อย
- ผ่อนคลายกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น
- แก้อาการเหน็บชา
- ช่วยทำให้ทางเดินหายใจชุ่มชื้น ช่วยละลายเสมหะทำให้ขับออกมาได้ง่ายขึ้น บรรเทาอาการโรคภูมิแพ้
- ช่วยลดการอักเสบและบวมที่เยื่อบุของทางเดินหายใจตอนบน
- ช่วยลดการระคายเคืองในลำคอ

โรคหรืออาการที่สามารถบำบัดรักษาด้วยการอบสมุนไพร

- โรคภูมิแพ้
- โรคหอบหืดที่อาการไม่รุนแรง
- เป็นหวัด น้ำมูกไหล แต่ไม่แห้งคัน
- โรคที่ไม่ได้เป็นการเจ็บป่วยเฉพาะที่
- โรคอื่นๆ ที่สามารถใช้การอบร่วมกับการรักษาแบบต่างๆ
- เป็นการส่งเสริมสุขภาพ และมารดาหลังคลอด

ข้อห้ามในการอบสมุนไพร

- มีไข้สูง
- โรคติดต่อร้ายแรง
- โรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ หอบหืดระยะรุนแรง ลมชัก
- สตรีขณะมีประจำเดือน
- มีการอักเสบจากบาดแผลเปิดและแผลปิด
- อ่อนเพลีย อดอาหาร อดนอน หลังรับประทานอาหารใหม่
- ปวดศีรษะ ชนิดวิงเวียนศีรษะ และคลื่นไส้

ในปัจจุบันการอบสมุนไพร ได้มีการพัฒนาให้สามารถอบได้ทั้งตัว โดยการเข้ากระโจมที่มีหม้อต้ม สมุนไพรอยู่ในนั้นด้วย จะทำให้สามารถอบได้ทั้งตัว ความร้อนสม่ำเสมอ ไม่เพียงสตรีที่คลอดบุตรใหม่ หรือผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุเท่านั้นที่นิยมอบสมุนไพร บุคคลทั่วไปที่ต้องการลดน้ำหนัก และต้องการทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งก็นิยมอบไอน้ำกันมาก

ปัจจุบันมีผู้คิดประดิษฐ์ตู้อบขึ้นมาแทนการเข้ากระโจมมากมายหลายแบบ โดยใช้หม้อหุงข้าวไฟฟ้าต้มสมุนไพรในตู้อบ ทำให้มีความสะดวกสบายในการใช้มากยิ่งขึ้น ท่านพิจารณาเลือกใช้เอาตามความเหมาะสมของตนเองนะครับ

ที่มา : หญิงไทย

0 comments:

Post a Comment