A Blogger by Beamcool

รู้ทันมะเร็งลำไส้ใหญ่

Tuesday, August 4, 2009

จากการเสียชีวิตของ ฟาราห์ ฟอว์เซ็ตต์ 1 ใน 3 นางฟ้าชาร์ลีรุ่นบุกเบิก ที่เสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ในวัย 62 ปี

เธอได้รับการ วินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เมื่อปี 2549 และเข้ารับการรักษาหลายครั้ง แต่อาการไม่ดีขึ้น โรคมะเร็งได้ลามไปทั่วช่องท้องและตับ ซึ่งก่อนหน้านี้เธอเชื่อว่าสามารถต่อสู้จนหายจากโรคมะเร็งแล้ว แต่โรคก็กำเริบขึ้นอีกอย่างรวดเร็วพร้อมกับอาการที่รุนแรงกว่าเดิมจนเสีย ชีวิต

มะเร็งลำไส้ใหญ่มี อุบัติการณ์สูงขึ้นตามวัย แต่ก็สามารถรักษาให้หายได้ ถ้าแพทย์สามารถวินิจฉัยได้ตั้งแต่ระยะแรก โดยมีโอกาสหายสนิทหลังการผ่าตัดถึง 60-80% แต่กรณีของฟาราห์ด้วยวัย 62 ปี การเป็นมะเร็งชนิดนี้ก็นับว่าร้ายแรงพอสมควร และเป็นไปได้ว่าตอนที่ตรวจพบโรคอาจอยู่ในระยะที่ลุกลามไปมากแล้ว จึงทำให้ยากแก่การรักษา

นพ.อภิชาต สุรเมธากุล อายุรแพทย์ระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลเวชธานี ให้ความรู้ว่าจากสถิติในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นสาเหตุที่ทำให้ชาวอเมริกันเสียชีวิตปีละ 6 หมื่นคน และอัตราการเสี่ยงในการเป็นโรคนี้ ตลอดชั่วชีวิตเพิ่มขึ้นจาก 1 ต่อ 25 เมื่อ 30 ปีก่อน มาเป็น 1 ต่อ 20 ในปัจจุบัน

ประเด็นสำคัญคือ โอกาสเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่จะเพิ่มขึ้นตามวัย โดยปกติจะพบน้อยในคนอายุต่ำกว่า 40 ปี แต่โอกาสเสี่ยงจะเพิ่มเป็น 2 เท่าทันทีหลังอายุ 50 ปี ความเสี่ยงดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นอีกหากมีปัจจัยเสริม เช่น มีญาติใกล้ชิดเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือเป็นโรคเนื้องอกของลำไส้ใหญ่ชนิด Familial Polyposis มีประวัติเป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือผู้ที่ชอบกินอาหารที่อุดมด้วยไขมันและมีเส้นใยอาหารต่ำ เป็นต้น

มะเร็งทวารหนักคืออะไร

นพ.ยศพร โสภณธนะสิริ แพทย์ทางอายุรกรรม ทางเดินอาหาร โรงพยาบาลสมิติเวช กล่าวว่า คือมะเร็งที่เกิดบริเวณลำไส้ส่วนปลาย โดยลำไส้ของคนเราต่อตรงจากปากถึงก้นและมีการกั้นเป็นระยะทวารหนัก คือ ส่วนหนึ่งของลำไส้ใหญ่ตอนปลายเราเรียกทวารหนัก มะเร็งส่วนปลายส่วนลำไส้ใหญ่จึงเรียก “มะเร็งทวารหนัก” ซึ่งสาเหตุของการเกิดมะเร็งในลำไส้จึงเป็นสาเหตุเดียวกันกับมะเร็งทวารหนัก ด้วยเช่นกัน

เพื่อการรู้เท่า ทันมะเร็งลำไส้ใหญ่ แพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร ได้แนะนำให้พึงสังเกตอาการเบื้องต้นเหล่านี้คือ มีเลือดออกทางทวารหนัก อุปนิสัยการขับถ่ายที่เปลี่ยนไป เช่น เคยท้องผูกกลับถ่ายเหลวบ่อยๆ เคยถ่ายปกติกลับท้องผูก มีอาการปวดมวนในท้องหรือปวดท้องบ่อยๆ โลหิตจาง หรือน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น

สิ่งสำคัญที่พึง ตระหนักไว้คือ มะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะแรกอาจไม่มีอาการแสดงใดๆ จะเริ่มมีอาการต่อเมื่อโรคมีการพัฒนาระดับหนึ่งแล้ว แต่หากรอจนมีอาการดังกล่าวข้างต้น อาจหมายถึงก้อนมะเร็งที่มีขนาดใหญ่มาก หรือมีการลุกลามเกิดขึ้น ดังนั้นในกรณีที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น อายุมาก หรือมีอาการที่สงสัยจึงควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เนื่องจากการตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ตั้งแต่ระยะแรก จะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้

ตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่

นักวิจัยทางการ แพทย์ พยายามคิดค้นวิธีการตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่ที่สะดวกและให้ผลละเอียดแม่นยำ เพื่อผลการรักษาที่ดีขึ้น ในปัจจุบันมีหลายวิธี แต่ละวิธีก็มีข้อดีและข้อจำกัดต่างกัน ดังนี้

1.การใช้นิ้วมือตรวจบริเวณทวารหนัก เป็นการตรวจเบื้องต้น โดยแพทย์จะสวมถุงมือทาสารหล่อลื่น และสอดนิ้วชี้ผ่านเข้าไปทางรูทวารหนัก เพื่อตรวจลำไส้ใหญ่ส่วนปลายและทวารหนัก จัดเป็นวิธีที่ง่าย สะดวก และไม่เจ็บ สามารถทำได้ที่ห้องตรวจของหมอทั่วไป แต่ข้อจำกัดคือสามารถตรวจได้เฉพาะบริเวณทวารหนักและลำไส้ใหญ่ส่วนปลายเท่า นั้น

2.การตรวจหาเลือดในอุจจาระ ปกติอุจจาระที่เราขับถ่ายจะไม่มีเลือดปนอยู่ แต่ถ้าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่อาจพบหยดเลือดออกมาจากเนื้อร้าย ซึ่งเลือดเพียงนิดเดียวเวลาปนเปื้อนมาในอุจจาระจะสามารถตรวจพบได้ ข้อดีของวิธีนี้คือทำง่ายไม่แพง ไม่เจ็บ แต่มีความผิดพลาดในการวินิจฉัยได้ระดับหนึ่ง

3.การส่องกล้องตรวจทวารหนัก เนื่องจากมะเร็งของลำไส้ใหญ่ส่วนหนึ่งอาจเป็นบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลายต่อ เนื่องถึงทวารหนัก การใช้กล้องส่องตรวจทวารหนักแบบสั้นซึ่งมีความยาว 25 ซม. ส่องดูผนังทวารหนัก ซึ่งจะวินิจฉัยเนื้องอกโพลิปและมะเร็งขนาด 1 ซม. ขึ้นไป ได้ผลแม่นยำกว่า 95% แต่สามารถตรวจได้เพียง 25 ซม.ของลำไส้ใหญ่ วิธีนี้มีความแม่นยำในการวินิจฉัย และในหลายกรณีสามารถทำการผ่าตัดเนื้องอกหรือเนื้อร้ายออกได้เลย ต่อมามีการประดิษฐ์กล้องส่องตรวจที่ยาวขึ้น และเป็นกล้องงอได้ยาวประมาณ 60 ซม. ทำให้สามารถส่องดูลำไส้ใหญ่ได้ยาวขึ้น แต่ยังมีข้อจำกัดคล้ายกล้องส่องที่สั้นกว่า คือยังดูได้ไม่ทั่วลำไส้ใหญ่

4.การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เป็นวิธีการมาตรฐานในปัจจุบัน แพทย์จะใช้กล้องพิเศษซึ่งเป็นท่อยาวขนาดเล็กสอดผ่านทวารหนักเพื่อผ่านเข้าไป ในลำไส้ใหญ่ ทำให้แพทย์สามารถเห็นรายละเอียดต่างๆ ตลอดทั้งลำไส้ใหญ่ได้ มีข้อดีที่หากพบความผิดปกติ เช่น ติ่งเนื้อ เนื้องอก หรือเนื้อผิดปกติอื่นที่ยังแยกได้ไม่ชัดเจน แพทย์สามารถทำการตัดชิ้นเนื้อ หรือติ่งเนื้อนั้นออกมาตรวจได้โดยตรง ซึ่งในกรณีที่เป็นติ่งเนื้อหรือเนื้องอก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของมะเร็ง หลังจากตัดออกผ่านกล้องแล้ว โรคก็จะหายสนิท โดยไม่ต้องผ่าตัดซ้ำ หรือหากพบเป็นเนื้อที่ผิดปกติ การส่งชิ้นเนื้อตรวจทางพยาธิวิทยาถือเป็นวิธีการตรวจยืนยันมะเร็งที่ดีที่ สุดในปัจจุบัน

5.การถ่ายภาพรังสีของลำไส้ใหญ่ โดยการสวนแป้งเข้าไปฉาบลำไส้ใหญ่แล้วถ่ายภาพเอกซเรย์เรียกว่า “แบเรียม เอเนมา” ใช้เวลาตรวจประมาณ 30 นาที ซึ่งอาจสวนแป้งแบเรียมร่วมกับลมเข้าไปด้วยเรียกว่า Double Contrast Barium Enema ช่วยวินิจฉัยให้แม่นยำขึ้น

อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ผู้รับการตรวจต้องสัมผัสรังสีและเมื่อตรวจพบเนื้องอก ก็ต้องไปส่องกล้องตรวจซ้ำเพื่อตัดชิ้นเนื้อมาตรวจ วิธีนี้มีข้อดีคือสามารถตรวจลำไส้ใหญ่ได้ทั้งหมด แม่นยำพอสมควร และมีความปลอดภัย

เนื่องจากมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคที่ค่อยเป็นค่อยไป จึงอาจมีโรคแฝงอยู่โดยไม่มีอาการแสดงอยู่เป็นปี แต่ถ้าโชคดีตรวจพบได้แต่เนิ่นๆ อาจทำให้รักษาหายขาดได้ ดังนั้น ในกรณีที่มีอายุเกิน 50 ปีแล้ว การตรวจร่างกายประจำปีเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสมาชิกในครอบครัวคนใดคนหนึ่งเป็นโรคนี้ด้วยแล้ว ควรระมัดระวังให้มากขึ้น และเข้ารับการตรวจคัดกรองดังแนวทางข้างต้น

สาเหตุของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่

สิ่งที่เป็นสาเหตุ ที่ทำให้เกิดมะเร็งไม่ได้เกิดจากปัจจัยเดียว เนื่องจากมะเร็งเกือบทุกชนิดในโลกมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยร่วมกัน สำหรับมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือมะเร็งทวารหนักนั้นจะพบว่ามี 2 ปัจจัยหลักดังนี้

1.ปัจจัยภายนอก เช่น การกินอาหารที่มีกากใยน้อย อาหารที่มีไขมันสูง ถ้ากินเป็นเวลานานอาจเกิดความเสี่ยงกับการเป็นมะเร็ง และจากผลการวิจัยยังพบว่าผู้ป่วยที่มีน้ำหนักมากก็มีความเสี่ยงที่จะเป็น มะเร็งลำไส้ใหญ่หรือมะเร็งทวารหนักด้วยเช่นกัน

2.ปัจจัยภายใน เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม แต่ไม่ได้หมายความว่า คนที่ครอบครัวไม่มีประวัติจะไม่มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง จากการวิจัยพบว่า มีโรคลำไส้บางชนิดที่เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดมะเร็งทวารหนัก เช่น โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคเนื้องอกของลำไส้บางชนิดที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม

อาการเบื้องต้นที่ บ่งบอกว่าเป็นมะเร็งทวารหนัก ถ้ารอจนกว่าจะมีอาการให้เห็นก็อาจสายเกินแก้ไข โดยมากมักจะเป็นระยะค่อนข้างสุดท้าย โดยอาการที่พบได้เริ่มต้น คือ ถ่ายเป็นเลือด ถ่ายไม่สุด ถ่ายยาก อุจจาระมีขนาดเล็ก น้ำหนักลด มีอาการซีด ดังนั้น ถ้าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงแพทย์แนะนำให้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้

คำแนะนำ


1.ไม่มีสารเคมี หรือยาอะไรที่ช่วยป้องกันโรคมะเร็งได้ ดังนั้นไม่ควรเชื่อหรือตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับการรับ ประทานอาหารเสริม หรือการทำดีทอกซ์ลำไส้ใหญ่ เพราะนอกจากจะเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์แล้ว ยังมีความเสี่ยงต่อผลแทรกซ้อนจากสารเคมีบางชนิดในอาหารเสริมบางตัว เช่น การเกิดตับอักเสบ

2.การทำดีทอกซ์มี ความเสี่ยงต่อการก่อให้เกิดการอักเสบหรือการแตกของลำไส้ใหญ่ ซึ่งเมื่อเทียบกับผลดีกับผลเสียที่ได้รับนั้นไม่มีความคุ้มค่า เพราะไม่มีข้อพิสูจน์ถึงประโยชน์ชัดเจนที่ได้รับจากการดีทอกซ์

3.หากการกินอาหาร เสริมและการทำดีทอกซ์ได้ผลดีจริง รัฐบาลเองคงออกนโยบายให้ประชาชนกินอาหารเสริมและทำดีทอกซ์ เพราะค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการเสียเงินรักษาโรคมะเร็งหลายเท่า

ชีวิตห่างไกลมะเร็งลำไส้ใหญ่


1.การเลือกกินอาหารที่ช่วยลดความเสี่ยงเหล่านี้ เช่น ผักและผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง การควบคุมไม่ให้น้ำหนักเกินมาตรฐานเกินไป

2.ควรรับการตรวจหา มะเร็งในระยะเริ่มต้น ด้วยการส่องกล้องในผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคมะเร็งชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งรังไข่ มะเร็งมดลูก มะเร็งท่อทางเดินน้ำดี มะเร็งตับอ่อน และมะเร็งในระบบทางเดินอาหารทั้งหมด ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป (ข้อแนะนำในประเทศสหรัฐอเมริกา) รวมถึงผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังต่อเนื่องมายาวนาน

3.ผู้ที่มีประวัติครอบครัวมีเนื้องอกที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมบางประเภท ก็จำเป็นต้องได้รับการคัดกรองโรคมะเร็งตั้งแต่อายุยังน้อย

ที่มา : ผู้หญิงน่ะค๊ะดอทคอม

0 comments:

Post a Comment